www.zeedcondom.com

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปลดล็อคสมการถุงยางกับยืดอกพกถุง



 ในช่วง 2 เดือนมานี้ หลายคนคงมีโอกาสดูสปอตโฆษณา “ยืดอกพกถุง” ที่กินเวลาเพียง 15 วินาที เพราะสปอตนี้ได้เผยแพร่ในช่วงเวลาที่มีผู้ชมรายการโทรทัศน์จำนวนมาก สปอตโฆษณาชุดนี้มี 2 ชิ้น มีจุดประสงค์หลักคือต้องการสื่อสารกับผู้ชายให้รู้สึกสะดวกใจที่จะซื้อถุงยางอนามัย ชิ้นแรกฉายภาพเหตุการณ์ในร้านสะดวกซื้อ ที่มีตัวละครผู้ชายเข้าไปซื้อถุงยางอนามัย โดยมีความกล้าๆ กลัวๆ สายตาคนรอบข้าง แต่ในที่สุดก็คิดได้ว่าเป็นความรู้สึกที่ตนคิดไปเองแท้ๆ คนรอบข้างในร้านนั้นไม่ได้สนใจเขาเลย โฆษณาอีกชิ้นฉายภาพเหตุการณ์ในสถานีอนามัย โดยตัวละครเด่นเป็นผู้ชายอีกเช่นกัน ชายผู้นี้เป็นชาวบ้านวัยกลางคน ไปขอรับถุงยางอนามัยจากเจ้าหน้าที่ แต่ไม่กล้าแม้แต่จะพูดคำว่า “ถุงยางอนามัย” เพราะกลัวว่าชาวบ้านที่นั่งรอรับบริการอยู่จะมองด้วยสายตาตำหนิ เขาใช้เวลาสื่อสารด้วยภาษามืออยู่นานกว่าจะรวบรวมความกล้าและเอ่ยคำว่าถุงยางได้สำเร็จ และเมื่อหันไปดูคนรอบข้าง ก็ไม่พบสายตาตำหนิติเตียน เพียงแค่นี้ก็สื่อได้ว่าการมาขอรับถุงยางอนามัยแสนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ไม่จำเป็นต้องอายใคร 

         ในสังคมไทยซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คน สปอตโฆษณาชุดนี้อาจโดนใจใครหลายคน ในขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลใจให้กับคนบางกลุ่ม แต่ปฏิกิริยาที่ปรากฏเป็นข่าวกลับมีเพียงความรู้สึกด้านลบ เพราะประธานสมาพันธ์ประชาชนตรวจสอบรัฐไทย ซึ่งเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคประชากรไทย ออกมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขให้ถอดโฆษณานี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการยั่วยุทางเพศ กระตุ้นให้วัยรุ่นอยากจะมีเพศสัมพันธ์เมื่อได้ดูโฆษณาชิ้นนี้ อีกทั้งเสนอแนะให้มีการปรับเปลี่ยนการโฆษณาไปในทางเสริมสร้างจิตสำนึกเชิงคุณธรรมแทน ทำเอาหลายคนมึนงงไปเหมือนกันว่าทำไมนักการเมืองจึงกระตือรือร้นออกมายึดพื้นที่สื่อเพื่อนำเสนอความกังวลใจของตนหลังจากโฆษณาแพร่ภาพไปแล้วถึง 2 เดือน

         เพื่อสะท้อนความเห็นที่รอบด้านไปสู่สาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ จึงได้จัดงานสานเสวนา “ยืดอกพกถุงกับวัยรุ่นไทย” เพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการแสดงความเห็นเรื่องเพศ จึงมีทั้งมุมมองจากวัยรุ่น ครูที่สอนเพศศึกษา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม คนทำงานประเด็นผู้หญิง คนทำงานปกป้องเด็กและเยาวชน และผู้ผลิตโฆษณาชิ้นนี้ การเสวนาเป็นไปอย่างน่าสนใจ เพราะมีหลายแง่มุมให้ได้คิดและติดตาม

         จากมุมมองของวัยรุ่น พวกเขาพูดตรงกันว่า เมื่อดูโฆษณาชิ้นนี้แล้ว ไม่ได้เกิดความรู้สึกอยากจะไปมีเพศสัมพันธ์แต่อย่างใด หรือพูดง่ายๆ ก็คือถุงยางอนามัยไม่ใช่สื่อกระตุ้นเร้าอารมณ์เพศสำหรับพวกเขา อย่างที่ผู้ใหญ่คิด หรืออาจมีความหมายแฝงว่าพวกเขาไม่ได้เกิดอารมณ์เพศง่ายดายเพียงแค่เห็นถุงยางอนามัยเท่านั้น วัยรุ่นบางคนมีความเห็นว่าวัยรุ่นพร้อมจะพกถุงยางอนามัยเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อและการท้องไม่พร้อมอยู่แล้ว แต่ยังกลัวสายตาของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่รับไม่ได้หากรู้ว่าลูกหลานพกถุงยาง ในขณะที่ วัยรุ่นหลายคนมองว่าโฆษณานี้ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจที่จะพกถุงยางมากขึ้น เพราะโฆษณาสื่อว่าการพกถุงยางคือการมีสำนึกรับผิดชอบในเรื่องเพศ

         อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่บางกลุ่มมองว่า “ยืดอกพกถุง” เป็นโฆษณาที่แรงเกินไป ยั่วยุให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ง่ายและเร็วขึ้น ในขณะที่คนทำงานด้านเพศศึกษาในเยาวชน ก็มีแง่คิดที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันมีโฆษณาหลายชิ้นที่แรงกว่านี้ เพราะเนื้อหามุ่งไปที่การเตรียมวัยรุ่นให้พร้อมที่จะหาคู่ เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์หน้าใส หน้าขาว ทั้งหลายที่เน้นสื่อสารให้วัยรุ่นหญิงดูแลเนื้อตัวร่างกายให้มีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ นอกจากนี้ ยังมีโฆษณาที่ดูถูกศักยภาพผู้หญิง เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบางยี่ห้อที่ใช้แล้ว สามีจะกลับมาภายใน 7 วัน ซึ่งสะท้อนว่าคุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่ความงามภายนอก ประเภทสวยใสแต่ไร้สมอง นอกจากนั้น ยังมีโฆษณาที่เปรียบผู้หญิงกับ “แรด” ที่วิ่งเข้าหาผู้ชายที่ใช้โรลออนระงับกลิ่นกายยี่ห้อหนึ่ง และผลิตภัณฑ์เสริมทรวงอก ที่เปรียบเทียบผู้หญิงกับแผ่นไม้กระดาน ทำให้ผู้หญิงหลายคนหมดความมั่นใจในตัวเอง หันไปพึ่งศัลยกรรมตกแต่งจนเป็นข่าวเสียชีวิตก็หลายครั้ง และอีกมากมายที่กล่าวไม่หมดในพื้นที่แค่นี้ แต่ประเด็นน่าสนใจที่พูดในวงสานเสวนาคือ เหตุใดจึงไม่มีการตั้งคำถามกับสปอตโฆษณาเหล่านี้

         ส่วนคุณครูที่มีประสบการณ์สอนเพศศึกษามานานสะท้อนประสบการณ์ว่าเคยรู้สึกสับสนเช่นกัน เกรงว่าจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจลงมือสอนเพศศึกษาอย่างจริงจัง เพราะได้รับรู้และเผชิญกับความจริงที่ว่าวัยรุ่นจำนวนมากเสี่ยงต่อการเสียสุขภาพทางเพศ โดยเฉพาะปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี และการตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม ด้วยเหตุที่ไม่มีข้อมูลที่รอบด้าน หรือได้รับข้อมูลเมื่อสายเกินไป การที่คุณครูท่านนี้ ไม่มัวแต่กังวล แต่ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ได้พบความจริงชุดหนึ่งว่าวัยรุ่นมีศักยภาพที่จะคิดและเลือกทางที่เหมาะสมกับตนเองได้ หากได้รับข้อมูลที่รอบด้าน

         ในขณะที่ฟากผู้ผลิตสปอตโฆษณากลับแปลกใจที่ถูกต่อต้านว่ายั่วยุให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ เพราะโฆษณาชุดนี้ตั้งใจสื่อสารให้เป็นกลางๆ ไม่ได้มีภาพที่สื่อไปในทางเชิญชวน และตัวละครหลักก็ไม่ใช่วัยรุ่น สิ่งที่คิดไว้ว่าอาจถูกต่อต้านและถือเป็นความท้าทายคือ การพยายามสร้างความคิดใหม่ว่า การพกถุงยางคือการทำดี ภายใต้แนวคิด “ทำดีแบบนี้ไม่ต้องอายใคร” และการนำเสนอภาพตัวละครที่แสดงความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งดีๆ โดยการยืดอกอย่างมั่นใจ การที่ผู้ผลิตโฆษณาไม่ถูกต่อต้านในแง่นี้ อาจเป็นเพราะสังคมไทยไม่เข้าใจในสารที่พยายามจะสื่อ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา การทำดีในสังคมไทยถูกมองด้วยสายตาที่คับแคบว่าเป็นเรื่องของการทำบุญกับพระหรือวัดเท่านั้น เพิ่งจะมาในช่วงไม่กี่ปีนี้ที่เริ่มขยายมาถึงการช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ แต่ก็มักเป็นการสงเคราะห์เสียส่วนมาก สังคมไทยจึงไปไม่ถึงไหน ไม่สามารถยกระดับเป็นสังคมที่ผู้คนสามารถเป็นผู้ให้และผู้รับได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะในสูตรสำเร็จของการสงเคราะห์ยังจำเป็นต้องมีฝ่ายที่มีสถานภาพเหนือกว่าและฝ่ายที่มีสถานภาพด้อยกว่า

         โดยภาพรวมแล้ว ผู้ผลิตสปอตโฆษณาชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างน้อยใน 2 จุด คือ สามารถดึงผู้คนในสังคมให้กระโจนเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับเรื่องเพศ และยังค่อยๆ คลี่คลายถอดสมการถุงยางที่ถูกใส่สูตรเอาไว้ว่า ถุงยางอนามัยคู่กับการสำส่อนทางเพศ นอกจากนี้ ในบริบทของสามีภรรยาหรือคู่รัก ถุงยางก็ถูกจับคู่ให้กับความไม่ไว้วางใจหรือการนอกใจ สปอตยืดอกพกถุงจึงเป็นก้าวแรกของการถอดสมการถุงยางว่าแท้ที่จริงคำตอบก็คือ ถุงยางเท่ากับสำนึกรับผิดชอบในเรื่องเพศ ยิ่งกว่านั้น สปอตนี้ยังพยายามถอดสมการการทำความดีที่ถูกจับคู่กับพระหรือการสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส มาเป็นการทำดีเท่ากับการเคารพสิทธิในสุขภาพทางเพศของบุคคลอีกด้วย ในจุดนี้ กระทรวงวัฒนธรรมควรจะรีบฉกฉวยโอกาสสานต่องาน หากยอมรับว่าการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นวัฒนธรรมไทยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น